พระครูธรรมะสมาจารย์ นามเดิมชื่อ พัก นามสกุล แย้มพิทักษ์ เกิดปีชวด ตรงกับ พ.ศ 2419 เกิดที่ตำบลวัดพิพาด อำเภอวังไม้ขอน จังหวัดสวรรคโลก เป็นบุตรนายแย้ม นางอิ่ม แย้มพิทักษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดากันทั้งหมด 6 คนเป็นชาย 5 คนเป็นหญิง 1 คนเมื่อเป็นเด็กๆ บิดามารดารักและโปรดปรานมาก เพราะนิสัยดี รู้จักกตัญญูกตเวทีเชื่อฟังคำบิดามารดา และรู้จักอ่อนน้อมต่อญาติพี่น้องทุกคน นอกจากนั้นยังมีนิสัยผิดกับเด็กคนอื่น คือ ชอบสงบเสงี่ยม มีหิริโอตัปปะ ไม่เกะกะเกเร บิดามารดาเห็นเช่นนั้น จึงนำไปฝากให้ศึกษาธรรมวินัยอยู่กับพระอุปัชฌาย์อาจ ที่วัดสว่างอารมณ์ ต่อมาท่านอุปัชฌาย์เห็นว่าเอาใจใส่รักการศึกษาดี จึง นำลงมาฝากให้ศึกษาต่อที่สำนักวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ เมื่อศึกษาเป็นเณร มีอายุครบพอจะอุปสมบทได้ จึงมีผู้อุปการะ ชื่อนายตง นางเขียน บ้านถนนตีทองหลังวัดสุทัศน์ จัดการอุปสมบทให้ และ
ปวารณาตนเป็นโยมอุปถัมภ์ตลอดมา โดยมีสมเด็จพระวันรัตแดงเป็นอุปัชฌาย์
ขณะที่กำลังศึกษาปริยัติธรรมอยู่ ณ วัดสุทัศน์นั้น ท่านได้ตั้งใจศึกษาและปฏิบัติทางสมณกิจได้ดีมาก ท่านเจ้าคุณทิม เมื่อสมัยยังไม่ได้เป็นเจ้าคุณ ได้ศึกษาอยู่ร่วมสำนักด้วย มีบ้านอยู่ในเขตตำบลวังทองหลาง บางกะปิ ได้เห็นและรักใคร่นิสัย จึงชักชวนให้มาเที่ยวและชวนให้จำพรรษาที่วัดบึงทองหลาง เมื่อท่านเห็นว่าสถานที่สงัดและอากาศก็เย็นสบาย สมควรเป็นที่ปฏิบัติทางสมณกิจได้ดี จึงตกลงใจจำพรรษาตลอดมา สมัยนั้นวัดบึงทองหลาง ยังไม่เจริญสถานที่ยังลุ่ม โบสถ์และศาลาวิหารยังไม่มี มีแต่กุฏิไม่กี่หลัง และรอบๆวัดก็ยังเป็นบึงมีแต่ป่า การคมนาคมยังไม่สะดวก อัตตาคัดขาดแคลน ภิกษุสามเณรก็มีน้อยลูก มีอาจารย์หนูเป็นสมภาร เมื่อสิ้นจากอาจารย์หนูแล้ว ก็มาอาจารย์ปิ๋วเป็นผู้รับหน้าที่สมภารแทน เมื่อสิ้นอาจารย์ปิ๋วแล้ว พระในวัดมีไม่มาก ทั้งพระที่อาวุโสและมีความสามารถก็ไม่มี ทางสงฆ์พร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา จึงพร้อมใจกันยกท่านขึ้นเป็นสมภาร เมื่อท่านได้เป็นสมภารปกครองวัดแล้ว ท่านได้วางโครงการปรับปรุงกุฏิที่ชำรุด และปลูกเพิ่มขึ้นอีกหลายหลัง โดยวิธีบอกบุญแก่ผู้ที่มีศรัทธา และมีผู้ศรัทธาถวายเรือนหลายหลัง ท่านก็นำศิษย์ทำการปลูกสร้างด้วยตนเอง โดยไม่เห็นแก่ความลำบาก ในด้านการอบรมสั่งสอน ท่านได้เอาใจใส่มาก ได้พยายามอบรมภิกษุสามเณรให้เคร่งครัดต่อระเบียบวินัยเป็นอย่างดี จนเป็นที่นับถือของสาธุชนทั่วไป
นอกจากการอบรมพระภิกษุสามเณรแล้ว ยังได้ถือโอกาสสอนหนังสือให้เด็กวัดอีก เพราะสมัยนั้นโรงเรียนประชาบาลยังไม่มี เด็กในท้องถิ่นต้องมาเรียนกับพระ ท่านได้เริ่มโครงการสอนมาก่อน นับว่าท่านได้เป็นผู้วางมาตรฐานการศึกษาและศีลธรรมให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นนี้ ยากที่จะหาผู้ใดมาเปรียบปรานได้ ต่อมาใน พ.ศ 2465 ท่านได้รับหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์ อุปสมบทกุลบุตรเป็นจำนวนมาก และท่านได้วางโครงการสร้างพระอุโบสถขึ้น โดยทุนของท่านร่วมกับประชาชน จนเป็นผลสำเร็จเรียบร้อย ในพ.ศ 2466 เมื่อสร้างอุโบสถเสร็จแล้ว ท่านได้ตั้งโครงการสร้างศาลาการเปรียญอีกหลังนึง โดยทุนของท่านบ้าง ทุนชาวบ้านบ้างสิ้นค่าปลูกสร้างประมาณ 30,000 บาท เสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ 2468 หลังจากนั้นท่านคิดว่าการศึกษาจะเจริญในอนาคต จึงคิดจะสร้างโรงเรียนขึ้นมาอีก เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ 2477 ก่อสร้างสำเร็จเปิดทำการสอนได้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ 2484 สิ้นค่าปลูกสร้างประมาณ 20,000 บาท และอุทิศให้แก่รัฐบาล ทางราชการเห็นคุณงามความดีของท่านจึงขอสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูชั้นประทวน ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ได้เป็นคณะหมวดตำบล ได้รับพระราชทานราชทินนามว่า ” พระครูธรรมสมาจารย์ “ เมื่อพ.ศ 2496 ต่อมาท่านได้จัดสร้างวิหารขึ้นอีก 1 หลัง แต่ระยะนี้ร่างกายของท่านชราภาพมาก ทำไม่ค่อยจะไหว จึงมอบภาระให้อาจารย์สิงห์โต เป็นผู้ดำเนินการแทนท่านต่อไป ในระยะต่อมาร่างกายของท่านก็ชำรุดทรุดโทรมลงมาตามกาลเวลา พยาธิได้เข้ามารบกวนเสมอมา ข้อนี้นับว่าเป็นของธรรมดา ที่ทุกคนจะหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ และผลที่สุดท่านก็ได้ถึงแก่กรรม ทั้งๆที่ยังเป็นสงฆ์ ด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ 2501 คงทิ้งแต่ความอาลัย และปูชนียสถานที่ท่านได้ก่อสร้างไว้แก่บรรดาศิษย์ยานุศิษย์ทั้งหลายทั่วไป ดังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้-
****************************************
ที่มาของข้อมูล : หนังสือการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน รุ่น 0288 กทม. 248 รุ่นที่ 12 เขตบางกะปิ วัดบึงทองหลาง ค่ายหลวงปู่พัก 16-20 เมษายน 2521
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น