ข้อความวิ่ง

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ มูลนิธิพระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต ติสฺโส) วัดบึงทองหลาง แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต วัดบึงทองหลาง

ประวัติหลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต  พระผู้สร้างแห่งทุ่งบางกะปิ           
 ประวัติ
พระครูธรรมสมาจารย์ (หลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต สกุลเดิม แย้มพิทักษ์ = พ.ศ.๒๔๑๙-๒๕๐๑) หรือที่รู้จักกันอย่างดีในนามหลวงปู่พัก และ หลวงพ่อภักตร์  พื้นเพเดิมท่านเป็นคนอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๖ พ.ศ.๒๔๑๙  เหตุที่ท่านมีชื่อ “พัก” นั้น เล่ากันว่า เพราะว่าโยมมารดาได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมเพื่อที่จะฝากครรภ์  ไว้ที่บ้านคุณตาคุณยาย  ขณะที่หยุดพักใต้ร่มไม้ใหญ่ชายป่า   เกิดเจ็บท้องกะทันหัน  และได้คลอดบุตรชายออกมา จึงได้ตั้งชื่อว่า “เด็กชายพัก” 

                    

          เมื่ออายุ ๘ ขวบ โยมบิดาได้พาเข้ากรุงเทพ ฯ มาฝากให้เป็นศิษย์วัดสุทัศนเทพวราราม คอยปรนนิบัติรับใช้ สมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อมีความคุ้นเคยกับวัดดีแล้ว  สมเด็จพระวันรัตได้เมตตา บรรพชาให้เป็นสามเณร  ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย  พระปริยัติธรรม รวมทั้งเรียนพุทธเทวมหามนต์  วิชาความรู้ทางช่าง  บูรณะวัดและวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่มีครูผู้สอน  มีตำรับตำราตกทอดกันมา ศึกษาตำราการสร้างพระที่มีตกทอดสืบกันมา  รวมถึงได้มีโอกาสได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานจากสำนักของสมเด็จพระสังฆราช (สา)  วัดราชประดิษฐาราม ด้วย

          ล่วงมาจนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๓๙  อายุครบบวชได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒนมหาเถร-พ.ศ.๒๓๖๕-๒๔๔๓)  เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศรีสมโพธิ (แพ ติสสเทวมหาเถร {พ.ศ.๒๓๙๙-๒๔๘๗} ที่กาลต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช) เป็นพระกรรมวาจาจารย์  ได้รับฉายาว่า “ธมฺมทตฺโต” หลวงปู่พัก เป็นพระภิกษุที่ขยันหมั่นเพียร  หมั่นฝึกฝนตนเอง

ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนแตกฉาน  ท่องบ่นพุทธเวทมหามนต์ชั้นสูงของสำนักวัดสุทัศน์ ตลอดจนมีความสามารถในการเจริญจิตภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน มีความสามารถเชี่ยวชาญจนกระทั่งนำไปถ่ายทอดสอนให้แก่ผู้อื่น
ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง
          จนกระทั่ง ๕ ปีผ่านไป ทางวัดบึงทองหลาง ซึ่งมีพระอธิการสิน เป็นเจ้าอาวาส ได้มีหนังสือมายัง สมเด็จพระวันรัต (แดง)  ขอให้ส่งพระที่มีความรู้  มาช่วยดูแลวัดด้วยเพราะตัวท่านชราภาพมากแล้ว

          หลวงปู่พัก จึงได้รับคัดเลือกให้มาทำความเจริญรุ่งเรืองแก่วัดบึงทองหลางตั้งแต่บัดนั้น  ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส  อีก  ๕ ปีต่อมาพระอธิการสิน มรณภาพ  หลวงปู่พัก  ได้จัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ  หลังจากนั้นจึงได้รับตราตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และอีก ๒ ปีต่อมา ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

เรียนวิชาเพิ่ม

          ในช่วงเวลานั้น หลวงปู่พัก   ธมฺมทตฺโต  ได้ยินกิตติศัพท์ของ หลวงปู่ทอง   วัดราชโยธา (ลาดบัวขาว)  พระโขนง  กทม.  ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันว่าท่านเป็นพระแท้มีอาคมขลังเป็นที่นับถือของคนทั่วไปในย่านนั้น ท่านจึงพายเรือไปกราบนมัสการในฐานะพระผู้น้อยเคารพพระผู้ใหญ่ ต่อไปได้เห็นวัตรปฏิปทาของ หลวงปู่ทอง เพียบพร้อมน่าศรัทธา จึงบังเกิดความเลื่อมใส ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ขอถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ วิชาการสร้างวัตถุมงคลให้ขลัง เรียนวิชาทำผงพุทธคุณ เรียนทำผงตรีนิสิงเห  เรียนสูตรเขียนยันต์จนชำนาญ สำเร็จยันต์ถึงขั้นเคาะผงทะลุกระดานได้  หลวงปู่พัก ชอบยันต์นี้มาก  และใช้ยันต์เป็นประจำต่อมา

          เมื่อท่านเขียนยันต์ตรีนิสิงเห ลงในตระกรุดผ้าประเจียด ผ้ายันต์ แจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ลูกหาญาติโยม  ปรากฏว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านคงกระพันชาตรี  ป้องกันเขี้ยวงา จนเป็นที่เลื่องลือ

ศิษย์ร่วมสำนัก

          ศิษย์ฝ่ายสงฆ์ที่ไปขอเรียนวิชากับหลวงปู่ทอง  วัดราชโยธา (บัวขาว) ได้พบกันในกุฏิยุคนั้น มีหลวงพ่อปั้น วัดสะพานสูง  บางซื่อ กทม.  หลวงพ่อเผือก วัดลาดพร้าว บางกะปิ กทม.  หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว บางพลี  สมุทรปราการ ซึ่งคณาจารย์ที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง  โดยคณาจารย์ล้วนแต่พายเรือลัดเลาะมาตามคลองเพื่อหาความรู้และหาครูบาอาจารย์  โดยมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือวัดราชโยธา (วัดบัวขาว) เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์และศึกษาทางด้าน “เวทยาคม” จากหลวงปู่ทองทั้งสิ้น

  

วัตรปฏิบัติหลวงปู่

          หลวงปู่พักเป็นพระที่สมถะ ไม่จับปัจจัย ตรงนี้ผู้เรียบเรียงเคยได้ยินผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าหลวงปู่ไม่จับตัง ก็เลยถามไปด้วยความสงสัยว่าแล้วหลวงปู่จับตังเอาตังที่ไหนมาซื้อที่ดินของชาวบ้าน  ก็ได้คำตอบว่า เงินจะวางอยู่ใครอยากได้เท่าไหร่ก็หยิบไป ทำนองว่าศิษย์หลวงปู่ไม่มีโกง เพราะเป็นผู้มีความเคารพซื่อตรงต่อหลวงปู่  หลวงปู่ยังนุ่งเจียม ห่มเจียม  ประหยัด  เคร่งในพระธรรมวินัย  พระลูกวัดทุกรูปต้องอยู่ในวินัยสงฆ์เช่นกัน ท่านไม่เคยขาดลงโบสถ์  ทำวัตรเช้าเย็น นอนแต่หัวค่ำ  ตื่นแต่เช้า  บางครั้งในยามดึกท่านจะตื่นขึ้นมาตรวจกุฏิสงฆ์ ท่านจะห้วยพวงกุญแจไว้ที่รัดประคต  จะได้ยินเสียงลูกกุญแจกระทบกันดังมาก่อนตัว   เมื่อท่านพบพระภิกษุรูปใดทำผิด  ๓ ครั้ง หลังจากตักเตือนแล้ว ท่านจะแนะนำให้สึกหาลาเพศ  จนเป็นที่ยำเกรงของหมู่สงฆ์  หรือในอีกภาพลักษณ์หลวงปู่จะเป็นพระที่ดุ หมายถึงให้ศิษย์หรือพระที่บวชเข้ามาเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์

ตำแหน่งและสมณศักดิ์

            หลวงปู่พัก เมื่อได้มาครองวัดบึงทองหลางในตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๕  ก็ได้พัฒนาวัดบึงทองหลางให้เจริญก้าวหน้า อย่างที่ปรากฏเป็นที่ทราบของชาววัดบึงทองหลาง จนได้รับการยกย่องจากคณะสงฆ์ชั้นปกครองให้ และแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน เมือ พ.ศ.๒๔๗๕  ขณะที่อายุ  ๕๖ ปี  ที่พระครูธรรมทัตฺโต  และได้รับตำแหน่งเป็น ได้ตำแหน่งพระครูสัญญาบัตร เมื่ออายุ  ๗๖  ปี ที่พระครูธรรมสมาจารย์  พ.ศ.๒๔๙๕ 

            นอกจากนี้  หลวงปู่พักยังได้ดำรงตำแหน่งอุปัชฌาย์ที่จะให้การบวชแก่กุลบุตรที่ประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนาที่มีท่านเพียงรูปเดียวในเขตบางกะปิ (ที่ครอบคลุมพื้นที่เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตวังทองหลาง เขตวัดลาดพร้าว เป็นต้น)  จึงทำให้ท่านมีลูกศิษย์ที่บวชกับท่านเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นวัดบางชัน วัดอุทัยทาราม (วัดบางกะปิ) วัดสามง่าม (บางเขน )วัดลาดพร้าว วัดศรีบุญเรือง วัดพิชัย วัดกลาง และวัดบางเตย วัดเทพลีลา วัดพระไกรศรี(น้อย)  เป็นต้น

          นอกเหนือจากเป็นพระเกจิคณาจารย์และอุปัชฌาย์แล้วหลวงปู่ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงบางกะปิอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ปณิธานอันเป็นความปรารถนาและความตั้งใจของหลวงปู่

๑.    มุ่งพัฒนาวัดบึงทองหลางให้เจริญสูงสุด

๒.    หวังให้ลูกศิษย์เป็นสัมมาทิฐิบุคคลและมีสัมมาปฏิบัติ(เป็นคนดี) ด้วยวิธีการอันแยบยล เช่น ก่อนที่ท่านจะมอบวัตถุมงคลให้ใครท่านจะสั่งสอนด้วยวิธีสั้น ๆ ว่า “อย่าด่าแม่เขานะ”

๓.    ต้องการสร้างโรงเรียนวิชาชีพเพื่อรับช่วงต่อจาก  ระดับประถมศึกษา ซึ่งหลวงปู่ได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนการฝีมือในวัดบึงทองหลาง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะหลวงปู่ได้มรณภาพเสียก่อน ใน พ.ศ.๒๕๐๑   จนกระทั่งพระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต เทศกาล) เจ้าอาวาสองค์ต่อมาได้สืบสานปณิธานหลวงปู่และได้มีการมอบที่ธรณีสงฆ์ให้กับทางราชการสร้างโรงเรียนมัธยมวัดบึงทองหลาง และโรงเรียนที่ให้การเรียนการสอนทางด้านวิชาชีพ คือ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ ฯ อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน

หลวงปู่ผู้วางรากฐานการพัฒนาวัดบึงทองหลาง

            ตามประวัติวัดบึงทองหลางไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นเอกสารอย่างชัดเจน  มีเพียงคำบอกเล่าจากตาพลอย  ระเบียบชาววัดบึงทองหลาง วัย ๙๒ ปี  เก่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดบึงทองหลาง ซึ่งแต่เดิมวัดตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญและเป็นวัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร  เดิมทีพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมตลอดถึงตลอดทั้งปีใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย  ต่อมามีพระภิกษุธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดอาศัยอยู่ ชาวบ้านทราบข่าวก็พากันมาทำบุญ  ไม่นานนักก็มีพระธุดงค์อีกรูปหนึ่งมาปักกลดอยู่แทนรูปแรกที่เดินทางต่อไปที่อื่น
             
                                           (วัดบึงทองหลางจากมุมสูงในอดีต)
                                           (วัดบีงทองหลางในอดีต)

          ชาวบ้านก็ยังคงพากันมาทำบุญและช่วยกันสร้างกุฏิสงฆ์ให้ท่านพักอยู่โดยนายนิ่ม และนางทองอยู่   เป็นผู้มอบถวายที่ดินให้สร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๑๙  และชาวบ้านก็ได้ร่วมมือกันสร้างอุโบสถขึ้นมาหลังหนึ่ง  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๐  พร้อมทั้งทำนุบำรุงรักษาวัดให้เจริญก้าวหน้าต่อมา

          จนกระทั่งมาถึงสมัยหลวงปู่พัก ธมมทตฺโต (พระครูธรรมสมาจารย์) มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  ก็ได้ชักชวนและประสานความสามัคคีในหมู่ประชาชน ได้ช่วยกันพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ และยังได้รวบรวมจตุปัจจัยจากศรัทธาสาธุชนทั่วไป ซื้อที่ดินและที่ธรณีสงฆ์ของวัดบึงทองหลางเป็นจำนวนมาก  ในสมัยหลวงพ่อสิงห์โตดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ให้จัดสรรให้ประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัยได้เช่าเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการหารายได้และก่อให้เกิดประโยชน์แก่วัด และได้รวบรวมรายได้จากส่วนนี้มาทำนุบำรุงวัดวาอารามจัดสงเคราะห์สาธารณชน และสนับสนุนการศึกษา พระภิกษุสามเณรภายในวัด เป็นต้น  {สาเหตุหนึ่งที่หลวงพ่อสิงห์โต  ต้องการให้ประชาชนมาอาศัยอยู่ในที่ดินของวัด  ก็เพื่อให้พระสงฆ์ได้บิณฑบาตสะดวก  เพราะเมื่อท่านมาอยู่วัดบึงทองหลางใหม่ ๆ ต้องทำอาหารถวายเพลพระ  เนื่องจากบิณฑบาตไม่พอฉัน }

          หลวงปู่พัก ได้มาก่อสร้างและวางรากฐานวัดจนกว้างขวางใหญ่โต โดยสิ่งก่อสร้างที่ยังหลงเหลืออยู่และสร้างในสมัยหลวงปู่พัก คือ

๑. อุโบสถหลังเก่า หลวงปู่พักได้ดำเนินการสร้างอุโบสถ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๖๒  โดยอาศัยศรัทธาของบรรดาญาติโยมสาธุชน ทั้งหลายได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์และสละกำลังแรงกายแรงใจช่วยกันก่อสร้าง  จนกระทั่งสำเร็จสมบูรณ์และจัดงานฉลองเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖   ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว  ๒๑ เมตร   ลักษณะเป็นทรงปั้นหยาสองชั้น  มีเสารายด้านนอกประกอบกำแพงแก้วสูง ๑ เมตร  รอบอุโบสถ ปัจจุบันรูปทรงอาจเปลี่ยนไป อันเนื่องทางวัดบึงทองหลางได้บูรณะไว้เป็นอนุสรณ์ที่ระลึกสำหรับหลวงปู่

๒.ศาลาการเปรียญ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘   ลักษณะทรงไทย ๒ ชั้น กว้าง ๑๗ เมตร  ยาว ๓๐ เมตร  ปัจจุบันทางวัดได้เรื้อทิ้งไปและสร้างศาลาหลังใหม่ขึ้นมาในบริเวณเดิม  ซึ่งในความเป็นจริงสามารถรักษา  อนุรักษ์ซ่อมแซม ทำเป็นพิพิธภัณฑ์หลวงปู่พัก (แบบพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จ.ภูเก็ต) ให้ไว้เป็นแหล่งการเรียนรู้ และเป็นมรดก พร้อมทั้งเป็นเครื่องย้ำเตือน แก่เราชาววัดบึงทองหลาง ในฐานะที่เป็น “มรดกหลวงปู่พักสร้าง” จะเป็นการดีอย่างยิ่ง

               
     (คณะสงฆ์วัดบึงทองหลาง หน้าวิหารหลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต)

          ๓. ที่สร้างวัดและที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งในสมัยหลวงปู่ได้มาด้วยการที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคบ้าง และนำเงินวัดไปจัดซื้อมาบ้าง  ซึ่งมีจำนวนกว่า  ๒๗๐ ไร่ โดยในปัจจุบันคาดว่าจะมีมูลสูงหลักพันล้านบาท ซึ่งที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดบึงทองหลางมีหลายแปลงด้วยกัน คือ

          ๑.) ที่สร้างวัดที่จัดซื้อหาเพิ่มเติมที่ปัจจุบันมีกว่า ๓๐ ไร่  อันเป็นสถานที่จัดสร้างศาสนวัตถุที่พัฒนามาพร้อมกับเวลา เช่น อุโบสถ ๑ หลัง วิหาร  ๒  หลัง  ศาลาอเนกประสงค์  ศาลาสวดศพกว่าประมาณ ๑๖ หลัง กุฎิที่พำนักสงฆ์กว่า ๓๐ หลัง ที่จอดรถ เมรุเผาศพ ๔ เตาเผา  เป็น      

๒.) ที่ธรณีสงฆ์แปลงรามอินทรา ซอยวัชรพล (ท่าแร้ง) มีเนื้อที่ จำนวน ๒๕ ไร่ จัดสรรค์ให้ประชาชนได้อยู่อาศัย เรียก ชุมชนวัชรปราณี (ท่าแร้ง)   ถนนรามอินทรา  ซอยวัชรพล (ห้าแยกวัชรพล) แขวงท่าแร้ง

เขตบางเขน   ทางวัดได้จัดสรรให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ ?  และได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นชุมชนโดยสำนักพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร  เมื่อวันที่ ๓  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙  ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยประมาณ  ๒๒๕+ ครอบครัว   ๘๐๔+  คน

๓.) ที่ธรณีสงฆ์แปลง ลาดพร้าว ๘๗  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ชุมชนจันทราสุข  ตั้งอยู่ถนนลาดพร้าว ซอย ๘๗ เขตวังทองหลาง  มีพื้นที่ธรณีสงฆ์ จำนวน  ๒๔.๐๗   ไร่ เข้าอยู่อาศัยประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๘   และได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นชุมชน โดยสำนักพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร  เมื่อ  ๑๓  ตุลาคม  พ.ศ.๒๕๓๕  ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยประมาณ  ๒๑๘+ ครอบครัว   ๗๖๖+  คน

๔.) ที่ธรณีสงฆ์แปลงถนนลาดพร้าว ๑๐๑  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ชุมชน ๑๐๑ บึงทองหลาง  (หน้าวัด) ที่ตั้ง..ถนนลาดพร้าว ซอย ๑๐๑  เขตบางกะปิ มีพื้นที่ธรณีสงฆ์ จำนวน  ๒๗ ไร่ ทางวัดได้จัดสรรให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๘  ? และได้รับการจดทะเบียนเป็นชุมชนโดยสำนักพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร  เมื่อ ๑๓   ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๓๕  (๑๙๙๒)  ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยประมาณ  ๒๑๐+  ครอบครัว   ๗๙๘+   คน

๕.) ที่ธรณีสงฆ์แปลงเรียบถนนเกษตร-นวมินทร์ แปลงถนนเกษตรศาสตร์-นวมินทร์ จำนวน ๒ โฉนด คือ ๑๑๒๕  เนื้อที่ทั้งหมด ๔๓  ไร่ ๑ งาน ๗๒  วา(ถูกเวนจำนวน ๔ ไร่ ๑ งาน ๒๑.๗ วา คงเหลือ ๓๙ ไร่ ๕๐.๓ วา)  และโฉนดเลขที่ ๑๑๒๖ จำนวน ๒๗ ไร่  ๑ งาน ๙๖ วา (ถูกเวนคืน  ๒ ไร่ ๖.๖ วา คงเหลือ ๒๕ ไร่ ๑ งาน ๘๙.๔ วา ) ปัจจุบันให้เอกชนเช่า
๖.) ที่ธรณีสงฆ์ในซอยวัดบึงทองหลาง ลาดพร้าว ๑๐๑ ทางวัดอนุญาตให้เป็นที่จัดตั้งโรงเรียนวัดบึงทองหลาง มัธยมวัดบึงทองหลาง และโรงเรียนวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๘๐ ไร่
๗. ที่ธรณีสงฆ์ด้านหน้าโรงเรียนฝั่งซ้าย-ขวาของถนน เอกชนเช่าจัดทำเป็นอาคารพาณิชย์
          ๘. ที่ธรณีสงฆ์บริเวณ ซอยลาดพร้าว ๑๐๑ (บ่อปลา) เอกชนเช่าประกอบกิจการ


ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดบึงทองหลาง (พิทักษ์วิทยาคาร)

          โรงเรียนวัดบึงทองหลาง (พิทักษ์วิทยาคาร) สำนักงานเขตบางกะปิ กรุงเทพหานคร  ได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๗๕  โดยมีขุนพิทักษ์ พันธุมสูตร นายอำเภอ ได้เกณฑ์เด็กอายุ ๑๐ – ๑๔ ปี เข้าเรียนตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติ โรงเรียนดำรงอยู่ได้ด้วยเงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ (กระทรวงธรรมการ) เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ ต่อมา พ.ศ.๒๔๗๙  ทางราชการได้ปรับปรุงชั้นเรียนใหม่ให้เหลือเพียง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๔ 

          ครั้งแรกโรงเรียนเปิดสอนที่ศาลาการเปรียญวัดบึงทองหลาง โดยใช้ชื่อโรงเรียนประชาบาลตำบลวังทองหลาง (พิทักษ์วิทยาคาร) มีนายมังกร  ชุณอุไร  เป็นครูใหญ่คนแรก  โรงเรียนได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ต่อมาพระครูธรรมสมาจารย์ (หลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต –แย้มพิทักษ์) เจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง ซึ่งท่านเป็นผู้สนใจเอาใจใส่ทางด้านการศึกษา จึงได้บริจาคที่ดินและสละทุนทรัพย์ส่วนตัว

เพื่อทำการสร้างอาคาร ประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาทเศษ  เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ปี พ.ศ.๒๔๗๙  จนกระทั่งแล้วเสร็จ  และเปิดเป็นสถานศึกษาเล่าเรียน เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๘  โดย นายกำจัด   ผาติสุวรรณ   นายอำเภอเป็นผู้เป็นประธานในการเปิด  และมีนายชุบ  อาจพงษ์ เป็นครูใหญ่ให้ชื่อว่า โรงเรียนพิทักษ์วิทยาคาร

          ในปี พ.ศ.๒๔๙๐   ได้โอนมาขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการโดยตรงและเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนวัดบึงทองหลาง”  และพัฒนามาเป็นลำดับจนกระทั่งปัจจุบันเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่   ในสังกัดกรุงเทพมหานครมีจำนวนนักเรียนและครูกว่า ๒๐๐๐ คน รวมทั้งเป็นสถาบันบ่มเพาะทางด้านความรู้วิชาการ  คุณธรรมให้แก่ลูกหลาน  ชาววัดบึงทองหลางและใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

          ในปัจจุบันทางโรงเรียนได้ก่อตั้งมูลนิธิหลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต  ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่นักเรียนโรงเรียนวัดบึงทองหลาง  ซึ่งพระครูพิศาลวิริยคุณ (สิงห์โต เทศกาล) เจ้าอาวาสวัดบึงทองหลาง ในขณะนั้นได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น  โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งกองทุนให้กับโรงเรียนและเป็นการระลึกถึงบุญคุณของหลวงปู่พัก ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มสร้างโรงเรียนและบริจาคที่ดินในการก่อสร้างเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานชาววัดบึงทองหลาง ได้มีที่เรียนที่ศึกษาในช่วงเวลานั้น


วาระสุดท้ายของหลวงปู่

          กระทั่งวันพฤหัสบดี ที่ ๑๘  สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑   (แรม  ๑๔ ค่ำ เดือน ๘) เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น.  หลวงปู่พักจึงได้ละสังขารอย่างสงบด้วยโรคชรา ขณะอายุ ได้ ๘๒ ปี พรรษาที่ ๖๒  คณะศิษยานุศิษย์  ได้นำศพของหลวงปู่ไว้สักการะเป็นเวลา  ๒ ปี   ๗ เดือน กับอีก ๑ วัน จึงได้ขอพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ ๑๓  มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๓  ณ วัดบึงทองหลาง  มีศิษย์ยานุศิษย์และผู้เลื่อมใสไปร่วมพิธีกันล้นหลาม  ปัจจุบันทางคณะศิษย์ได้หล่อรูปเหมือนเท่าองค์จริงเป็นที่ระลึก  ประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดบึงทองหลาง  มีประชาชนได้เข้าไปกราบไหว้ในคุณงามความดีของท่านมิได้ขาด

 (หลวงพ่อโต  เคยให้ฟังว่า “งานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่พัก  วัดไม่มีเงินเก็บและเงินส่วนตัวของหลวงปู่ก็ไม่มีสะสมไว้ เพราะท่านบริจาคเพื่อส่วนรวมหมด เช่น สร้างโรงเรียน  ซื้อที่ดินให้วัด หลวงพ่อโตจึงต้องไปยืมเงินเพิ่มจากโยมเพิ่ม-รัตน์ สาคร, โยมสร้อย  ใจผ่อง (แม่ของแม่ชีบุญมี ใจผ่อง), แม่ชีแป้น  เนียมชื่น และโยมบุญ-โยมนาง เหงาชีอิ๊ด  เพื่อเป็นเงินสำรองจ่าย ซึ่งสมัยนั้นเงินทอดหายากและลำบากมาก ๆ )

  
     
  







        (งานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่พัก ธมฺมทตฺโต พ.ศ.๒๕๐๓)
นอกจากนี้ทางพระพิพัฒน์สังวรคุณ (ถนอม ธมฺมฐิติ) ศิษย์หลวงปู่อีกท่านหนึ่งได้เป็นประธานจัดสร้างมณฑปหลวงปู่พัก  ธมฺมทตฺโต ซึ่งปัจจุบันแล้วเสร็จแล้วพร้อมที่จะเปิดใช้งานได้ พร้อมทั้งได้ทำพิธีเททองหล่อรูปหลวงปู่พักอีกองค์หนึ่งขึ้น เพื่อนำประดิษฐานไว้ ณ มณฑป เพื่อให้ศิษย์ที่เคารพนับถือ

            ภายหลังจากที่หลวงปู่ มรณภาพลงใน พ.ศ.๒๕๐๑  ทางคณะกรรมการวัด และคณะสงฆ์จึงได้นิมนต์ให้พระภิกษุสิงห์โต ติสฺโส  ซึ่งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบมา ซึ่งนับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันอาจลำดับ เจ้าอาวาส (ตามคำบอกเล่าและเอกสาร) ได้คือ

๑.     พระอาจารย์หลาง (หลักฐานไม่ชัดเจน)       ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๕-๒๔๒๙

๒.     พระอธิการปลิว  (หลักฐานไม่ชัดเจน)         ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๙-๒๔๔๔

๓.     หลวงตาสิน (หลักฐานไม่ชัดเจน)              ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๕๕

๔.    พระครูธรรมสมาจารย์(พัก  ธมฺมทตฺโต)       ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๕-๒๕๐๑

๕.    พระครูพิศาลวิริคุณ (สิงห์โต เทศกาล)        ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๑-๒๕๔๗

๖.     พระครูสุจิตฺวิมล (จวง สุจิตฺโต)                  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗-ปัจจุบัน


ที่มาของข้อมูล http://www.oknation.net/blog/moonpuk/2010/01/14/entry-3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น